งานวิจัยและข้อมูลทางวิชาการ

ดูแลตับด้วยชาหมักหรือคอมบูชะ (Kombucha)


             หน้าที่สำคัญของตับอย่างหนึ่งคือ การกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย ตับจะจับสารพิษโดยอาศัย กรดกลูคูโรนิกภายในตับ แล้วผ่านจากตับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่และกำจัดทิ้งทางอุจจาระ สารพิษบางส่วนที่รอการขับทิ้งอาจถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายโดยแบคทีเรียบางชนิดในลำไส้ใหญ่ แต่เนื่องจากในคอมบูชะมีสาร DSL ที่สามารถยับยั้งไม่ให้สารพิษถูกดูดซึมกลับ สารพิษจึงไม่ต้องกลับเข้าสู่กระบวนการขับทิ้งใหม่ คอมบูชะยังมีกรดกลูคูโรนิก จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดสารพิษของตับ ดังนั้นการดื่มชาหมักหรือคอมบูชะ (Kombucha) ที่มีทั้งกรดกลูคูโรนิก และสาร DSL จึงช่วยลดภาระและส่งเสริมการทำงานของตับ ในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย

ศ.ดร.สายสมร ลำยอง

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            คอมบูชะเป็นเครื่องดื่มชาหมักที่ให้ความสดชื่น รสหวานเล็กน้อยอมเปรี้ยว เกิดจากกระบวนการหมักของจุลชีพกลุ่มที่ดีที่เป็นโปรไบโอติกส์ มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนมานานกว่า 2000 ปี ปัจจุบันเป็นเครื่องดื่มสุขภาพที่นิยมดื่มทั้งในยุโรปและอเมริกา ส่วนประกอบหลัก ได้แก่ กรดอะซิติก กรดแลคติก กรดกลูโคนิก กรดกลูคูโรนิก และยังมีสาร DSL (D-saccharic acid-1,4-lactone) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคอมบูชะ กรดกลูคูโรนิกและ DSL เป็นสารที่ช่วยส่งเสริมให้ตับขับสารพิษและสารก่อมะเร็งได้ดีขึ้น ในคอมบูชะยังมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น โพลีฟีนอล รวมทั้งทีเฟลวิน และทีรูบิกินซึ่งพบในปริมาณที่สูงกว่าในชาดำ ปริมาณโพลีฟีนอลที่สูง ทำให้การต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น ช่วยปกป้องร่างกายจากการทำลายของอนุมูลอิสระได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังตรวจพบสารต้านจุลชีพก่อโรคและสารต้านการเจริญของเซลมะเร็งบางชนิด



รศ.ดร.ภญ.พาณี ศิริสะอาด

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            หน้าที่ของตับประการหนึ่งคือการกำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่ตับ และถูกกำจัดออกนอกร่างกายด้วยกระบวนการที่เรียกว่า กลูคูโรนิเดชั่น (glucuronidation) โดยสารพิษจะรวมตัวกับกรดกลูคูโรนิก เกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนกลูคูโรไนด์ (glucuronide complex) สารประกอบที่เกิดขึ้นมีความเป็นพิษน้อยลงหรือหมดความเป็นพิษ ซึ่งผ่านออกจากตับทางท่อน้ำดี เข้าสู่ลำไส้ใหญ่และกำจัดทิ้งทางอุจจาระ

            ขณะที่สารกลูคูโรไนด์อยู่ในลำไส้ใหญ่เพื่อรอการกำจัดทิ้ง จะถูกเอ็นไซม์เบต้ากลูคูโรนิเดส (β-glucuronidase) ซึ่งสังเคราะห์จากแบคทีเรียอีโคไล (Escherichia coli) ที่อาศัยในลำไส้ใหญ่ ปลดปล่อยสารพิษออกมาและดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย มีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าในคนที่มีการทำงานของเอ็นไซม์ชนิดนี้สูง มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป เนื่องจากสารก่อมะเร็งที่ถูกกำจัดทิ้งโดยกระบวนการกลูคูโรนิเดชั่น จะถูกปลดปล่อยโดยเอนไซม์ชนิดนี้ และดูดซึมเข้าสู่ผนังลำไส้ใหญ่ มีรายงานว่าสาร DSL (D-saccharic acid-1,4-lactone) ซึ่งเป็นสารที่พบในคอมบูชะเช่นเดียวกับกรดกลูคูโรนิก สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้ จึงช่วยส่งเสริมการกำจัดสารก่อมะเร็งและสารพิษอื่นๆ ออกจากร่างกาย

            ดังนั้นการที่ร่างกายได้รับอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีกรดกลูคูโรนิกและสาร DSL จึงช่วยส่งเสริมการทำงานของตับในการกำจัดสารก่อมะเร็ง และสารพิษต่างๆออกจากร่างกาย



รศ.ดร.สุรพล นธการกิจกุล

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            สาร DSL มีกระบวนการที่ควบคุมการถูกทำลายของเซลตับทางอ้อม ด้วยกระบวนการชีวะสังเคราะห์ที่ลดภาระการทำงานของตับ ปกติอาหารที่เราบริโภคเข้าไป จะผ่านกระบวนการ metabolite และจะเกิดสารประกอบที่มีฤทธิ์ และไม่มีฤทธิ์ ที่เหลือจากการ metabolite เมื่อสารประกอบเหล่านี้ถูกส่งผ่านมายังตับ ตับก็จะต้องหาสารเพิ่มเพื่อจับสารประกอบนี้มาเป็น conjugated glucuronic ขึ้นมาเพื่อขับสารประกอบนี้ ออกจากร่างกาย ซึ่งสารประกอบเหล่านี้ เมื่อถูกส่งผ่านมายังลำไส้ใหญ่ก็จะถูก เอนไซม์ beta glucoronidase ย่อยสลายให้เล็กลง และถูกดูดซึมกลับเข้าร่างกายใหม่ และจะต้องผ่านกระบวนการ metabolite ใหม่

            สาร DSL จะเกิดขึ้นจากกระบวนการชีวะสังเคราะห์ใน Kombucha ซึ่งจะช่วยยับยั้งเอมไซม์ beta glucoronidase ไม่ให้ย่อยสลายสารประกอบ conjugated glucuronic จึงทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่ดูดซึมสารประกอบที่เป็นพิษกลับคืนสู่ร่างกายอีก ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการปิดกั้นไม่ให้สารพิษนี้ถูกย่อยให้เล็กลงและถูกส่งกลับไปยัง ร่างกาย เป็นการปิดกั้นการเกิดสารก่อมะเร็ง ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้



อ.ฉัตรชัย กิติพรชัย

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            ชาหมักหรือคอมบูชะ (Kombucha) เป็นเครื่องดื่มที่ปลอดภัยมาก ชาวจีนดื่มกันมานานหลายพันปีสืบต่อมาถึงทุกวันนี้และแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก ในกระบวนการหมักจะไม่เกิดสารพิษใดๆ อีกทั้งจุลชีพที่ใช้ในกระบวนการหมักเป็นเชื้อกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยีสต์และแบคทีเรีย ล้วนแล้วแต่เป็นจุลชีพที่ดี

            นอกจากความปลอดภัยแล้ว คอมบูชะยังมีกรดอินทรีย์ ไวตามิน และสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์หลายชนิด จึงเป็นเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นและช่วยฟื้นฟูร่างกาย แพทย์ทางเลือกทั้งในประเทศจีนและยุโรปตะวันออกใช้ฟื้นฟูสภาพร่างกายของผู้ป่วยจากโรคต่างๆ

            ปัจจุบันมีงานวิจัยและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากมายที่บ่งชี้คุณประโยชน์ของคอมบูชะต่อสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของผู้ที่ดื่มคอมบูชะเป็นประจำ เช่น ช่วยระบบขับถ่าย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย ช่วยการนอนหลับ ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ ไมเกรน ช่วยการทำงานของตับและขับสารพิษ เป็นต้น



เอกสารอ้างอิง

  1. พาณี ศิริอาด, สุรพล นธการกิจกุล, สกุณณี บวรสมบัติ, ฉัตรชัย กิติพรชัย และยิ่งมณี ตระกูลพัว (2556). การพัฒนาเครื่องดื่มชาหมักชีวภาพ รายงานฉบับสมบูรณ์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
  2. Battikhi, H., Chaieb, K., Bakhrouf, A. and Ammar, E. (2013). Antibacterial and antifungal activities of black and green kombucha teas. Journal of Food Biochemistry 37, 231–236.
  3. Blanc, P.J. (1996). Characterization of the tea fungus metabolites. Biotechnology Letters 18,139-142.
  4. Chen, C. and Lui, B.Y. (2000). Change in major components of tea fungus metabolites during prolonged fermentation. Journal of Appllied Microbiology 89, 834-839.
  5. Chu, S-C. and Cheng, C. (2006). Effect of origin and fermentation time on the antioxidant activites of kombucha. Food Chemistry 98, 502-507.
  6. Dufresne, C. and Farnworth, E. (2000). Tea, Kombucha, and health: a review. Food Research International. 33,409-421.
  7. Deghrigue, M., Chriaa, J., Battikh, H., Abid, K., and Bakhrouf, A. (2013). Antiproliferative and antimicrobial activites of kombucha tea. African Journal of Microbiology Research 7(27), 3466-3470.
  8. Frank, G. W. 1995. Kombucha - Healthy beverage and natural remedy from the Far East, Ninth ed. Wilhelm Ennsthaler, Austria, pp.150.
  9. Jarrell, J., Cal, T. and Bennett, J.W. (2000). The kombucha consortia of yeast and bacteria. Microbiologist 14(4), 167-170.
  10. Jayabalan, R., Marimuthu, S. and Swaminathan, K. (2007). Changes in content of organic acids and tea polyphenols during kombucha tea fermentation. Food Chemistry. 102, 392-398.
  11. Kozyrovska, N.O., Reva1, O. M. , Goginyan, V. B. ,and de Vera, J.-P. (2012). Kombucha microbiome as a probiotic: a view from the perspective of post-genomics and synthetic ecology. Biopolymers and Cell. 28, 103–113.
  12. Kim, D-H and Jin, Y-H. (2001). Intestinal bacterial β-glucuronidase activity of patients with colon cancer. Archives Pharmacal Research. 24(6), 564-567.
  13. Malbaša, R., Lonćar, E. S., Vitas, J. S., Canadanović-Brunet, J. M. (2011). Influence of starter cultures on the antioxidant activity of kombucha beverage. Food Chemistry 127:1727-1731.
  14. Roche, J. (1998). The history and spread of Kombucha. http://w3.trib.com_kombu/roche.html.
  15. Rogers, A. E., Hafer, L. J., Iskander, Y. S. and Yang, S. (1998). Black tea and mammary gland carcinogenesis by 7,12-dimethylbenz[a]anthracene in rats fed control or high fat diets. Carcinogenesis, 19, 1269-1273.
  16. Sievers, M., Lanini, C., Weber, A., Schuler-Schmid, U. and Teuber, M. (1995). Microbiology and fermentation balance in a kombucha beverage obtained from a tea fungus fermentation. Systematic and Applied Microbiology. 18:590-594.
  17. Teoh, A.L., Heard, G. and Cox, J. (2004). Yeast ecology of kombucha fermentation. International Journal of Food Microbiology. 95, 119-126
  18. Tijburg, L. B. M., Mattern, T., Folts, J. D., Weisgerber, U. M. and Katan, M. B. (1997). Tea favonoids and cardiovascular diseases. Food Science and Nutrition. 37, 771-785.
  19. Yang, Z-W, Ji, B-P, Zhou, F, Li, B, Luo, Y, Yang, L, and Li, T. (2009). Hypocholesterolaemic and antioxidant effects of kombucha tea in high-cholesterol fed mice. Journal of the Science and Food Agriculture. 89:150–156.
  20. Yang, Z., Zhou, F., Ji, B., Li, B., Luo, Y., Yang, L. and Li, T. (2010). Symbiosis between microorganisms from kombucha and kefir: Potential significance to the enhancement of kombucha function. Appllied Biochemistry and Biotechnology. 160:446–455.